วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เครื่องสำรองไฟฟ้า หรือ UPS

หลายๆท่านที่ใช้งานอุปกรณ์ NAS อาจจะพบกับอาการเสียที่เกิดจากตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น Power Supply เสีย, Hard disk เสีย หรือแม้กระทั่ง Port LAN เสีย ซึ่งต้นเหตุของปัญหาอาจเนื่องมาจากไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ค่อนข้างที่จะ Sensitive ยกตัวอย่างเช่น Hard disk ที่กำลังอ่านหรือเขียนข้อมูลอยู่ แล้วไฟตกหรือดับ ทำให้จานหมุนและหัวอ่านที่กำลังทำงานอยู่หยุดกระทันหัน ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับ Hard disk ได้ ซึ่งยังไม่รวมถึงความสมบูรณ์ของข้อมูลที่กำลังบันทึกลงไปในระบบที่มีการ Setup RAID ไว้ด้วย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันปัญหาต่างๆอันเนื่องมาจาก ไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก นั่นก็คือ UPS นั่นเอง ซึ่ง UPS ย่อมาจาก Uninterruptible Power Supply หรือ "เครื่องสำรองไฟฟ้าและปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ" ถ้าแปลตรงตัว หมายถึง แหล่งจ่ายพลังงานต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักการทำงานคือ เมื่อ UPS รับพลังงานไฟฟ้าเข้ามาแล้วจะจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ และในขณะเดียวกันก็จะสำรองเก็บไว้ในแบตเตอรี่ในตัวเครื่องด้วย โดยเปลี่ยนจากไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ในกรณีที่ไฟดับ UPS ก็จะเปลี่ยนไฟฟ้า DC จากแบตเตอรี่ในตัวเครื่อง ให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แล้วจึงจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง


ประเภทของ USP แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. Offline UPS หรือ Standby UPS

UPS ชนิดนี้ถูกออกแบบให้ป้องกันกรณีเกิดไฟดับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันปัญหาแรงดันไฟฟ้าที่ผันผวนและสัญญาณรบกวนได้ จึงทำให้มีราคาถูกกว่า UPS ชนิดอื่นๆ และมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่และ UPS สั้น
Offline UPS เหมาะกับการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป


2. Online Protection UPS หรือ Line Interactive UPS with Stabilizer

UPS ชนิดนี้ถูกพัฒนามาจาก Offline UPS โดยเพิ่มระบบป้องกันแรงดันไฟฟ้าสูงหรือต่ำอัตโนมัติ (Stabilizer) เพื่อป้องกันปัญหาทางไฟฟ้า ซึ่ง Online Protection UPS หรือ Line Interactive UPS with Stabilizer จัดได้ว่าเป็น UPS ที่นิยมซึ่งราคาไม่แพงและมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่และ UPS ยาวนานกว่าแบบ Offline UPS
Online Protection UPS เหมาะกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญของข้อมูล หรือ Server ที่จำเป็นต้องสำรองข้อมูลไว้ รวมถึง NAS ที่เราใช้เก็บข้อมูลสำคัญไว้ด้วย เพราะแก้ปัญหาแรงดันไฟฟ้าได้ดีกว่าแบบ Offline UPS


3. True Online UPS

True Online UPS เป็น UPS ที่มีศักยภาพสูงที่สุดในจำนวน UPS ที่มีใช้งานอยู่ สามารถป้องกันปัญหาทางไฟฟ้าได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็น ไฟดับ, ไฟตก, ไฟเกิน หรือสัญญาณรบกวนใดๆ และให้คุณภาพไฟฟ้าที่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ UPS ชนิดนี้มีราคาสูงกว่า UPS ชนิดอื่นๆ
Ture Online UPS เหมาะกับการใช้สำรองไฟให้กับคอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญๆ มากๆ เช่น คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Data Server) หรือระบบธุระกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์สื่อสาร รวมถึง NAS ที่ใช้เก็บข้อมูลสำคัญปริมาณมาก เพราะจำเป็นต่อความต้องการคุณภาพของพลังงานไฟฟ้าที่สมบูรณ์


หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อ UPS ต้องใช้ UPS ขนาดเท่าไหร่ดี?
UPS แต่ละรุ่นจะมีหลักการทำงาน และราคาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงเลือกตามความเหมาะสมกับระดับการใช้งาน ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการคำนวณขนาดของ UPS ที่จะเลือกใช้
ตัวอย่าง
ให้หาขนาดของ UPS ที่สามารถใช้กับ คอมพิวเตอร์ ขนาด 220V 1.5A, อุปกรณ์ NAS ขนาด 50 Watt และโมเด็ม ขนาด 20 Watt
ค่า VA จะสามารถหาได้โดยคูณค่า Volt และ Amps เข้าด้วยกัน
- VA ของคอมพิวเตอร์ ขนาด 220V 1.5A = 220 x 1.5 = 330 VA
รูปของพลังงานไฟฟ้าในหน่วยวัตต์ (Watt-W) ให้แปลงกลับเป็นค่า VA โดยการคูณค่าวัตต์ด้วย 1.4
- VA ของอุปกรณ์ NAS ขนาด 50 Watt = 50 x 1.4 = 70 VA
- VA ของโมเด็ม ขนาด 20 Watt = 20 x 1.4 = 28 VA
ดังนั้น
VA รวม = 330 + 70 + 28 = 428 VA
สรุป
ขนาดของ UPS ที่สามารถต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย คือ 428 VA ขึ้นไป

การเชื่อมต่อ UPS กับอุปกรณ์ NAS และการตั้งการ Auto Shutdown เมื่อ UPS ไฟใกล้หมด
ลำดับแรกเราต้องตรวจสอบก่อนว่า UPS ที่เราจะเลือกใช้กับ NAS นั้นอยู่ใน Compatible List หรือเปล่า โดยสามารถตรวจสอบได้จาก Website ดังนี้
Synology NAS: https://www.synology.com/en-global/compatibility?search_by=category&category=upses&p=1
QNAP NAS: https://www.qnap.com/en/compatibility/?device_category=ups
หาก UPS ที่เราเลื่อกใช้อยู่ใน Compatible List เราจะสังเกตได้ว่า ด้านหลังของ UPS นั้นจะมี Port ที่ใช้สำหรับส่งข้อมูลรายละเอียดของ UPS ไปยัง NAS ผ่าน Data Port ซึ่งบางรุ่นอาจเป็น USB Port หรือ บางรุ่นอาจเป็น RJ Port ซึ่งมีตัวอย่างดังรูป


สาย Data ที่ใช้ก็จะขึ้นอยู่กับยี่ห้อของ UPS เช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีลักษณะดังรูป คือด้านหนึ่งเป็น RJ50 ใช้สำหรับเสียบ Port ด้านหลังของ UPS อีกด้านหนึ่งจะเป็น USB Port ไว้สำหรับเสียบเข้ากับ USB Port ของเครื่อง NAS


หลังจากเสียบสาย USB Data Port ที่มาจาก UPS แล้ว เราสามารถเข้าไปตั้งค่ารายละเอียดต่างๆของ UPS ได้ดังนี้
กรณีที่เป็น QNAP NAS สามารถเข้าไปตั้งค่ารายละเอียดต่างๆ ได้จาก Control Panel แล้วเลือก External Device หรือสามารถเลือก External Device ได้จากเมนูบาร์ด้านบน


เลือกไปที่ Tab UPS ทางด้านขวามือ จะปรากฏรายละเอียดของ UPS ที่เราใช้งาน โดยจะสถานะ และระยะเวลาในการสำรองไฟ


เราสามารถกำหนดระยะเวลาในการ Shutdown อุปกรณ์ NAS ได้ตามระยะเวลาที่เราต้องการเช่น หากไฟฟ้าดับนานเกินกว่า 15 นาทีให้ทำการ Shutdown NAS แบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันความเสียหายเป็นต้น ดังนั้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะต้องสอดคล้องกับระยะเวลาของ UPS ที่สามารถสำรองไฟได้ด้วย


กรณีที่เป็น Synology NAS สามารถเข้าไปตั้งค่ารายละเอียดต่างๆ ได้จาก Control Panel แล้วเลือก Hardware & Power


แล้วไปที่ Tab UPS ทางด้านขวามือเพื่อตั้งค่าการ Shutdown ของ Synology NAS ในกรณีที่ไฟฟ้าดับนานจนถึงระยะเวลาที่เรากำหนดไว้


เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆอันเนื่องมาจาก ไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก ให้กับอุปกรณ์ NAS ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และป้องกันความเสียหายของ Hard disk ทาง NAS SHOP ขอแนะนำให้ทุกท่านหา UPS ที่อยู่ใน Compatible List มาใช้ หากไม่แน่ใจ NAS SHOP ยินดีให้คำปรึกษาและจัดหา UPS ให้กับสมาชิกที่สนใจทุกท่านนะครับ